กลไกความเป็นพิษต่อตับของสารสกัดใบแป๊ะก๊วย

การศึกษาความเป็นพิษต่อตับของสารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba extract; GBE) ในหนูเม้าส์ชนิดปกติ (wild type; WT) และชนิดที่ถูกยับยั้งการทำงานของ constitutive androstane receptor* (CARKO) โดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 ให้หนูกินอาหารที่ผสมกับ GBE ในขนาด 0, 100, 1,000 หรือ 10,000 ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลานาน 4 หรือ 13 สัปดาห์ ส่วนการทดลองที่ 2 ทำการเหนี่ยวนำให้หนูเกิดมะเร็งด้วยการฉีดสาร diethylnitrosamine (DEN) เข้าทางช่องท้องในขนาด 90 มก./กก. เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จึงให้หนูกินอาหารที่ผสมกับ GBE ในขนาด 0, 100, 1,000 หรือ 10,000 ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลานาน 27 สัปดาห์ จากการทดลองที่ 1 พบว่าหลังการทดลอง 1 สัปดาห์ หนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ผสมกับ GBE โดยเฉพาะในขนาด 10,000 ส่วนในล้านส่วน DNA ภายในเซลล์ตับของหนู WT มีการจำลองตัวเพิ่มขึ้น และในสัปดาห์ที่ 4 และ 13 พบว่าเอนไซม์ตับชนิด Cyp2b10 มีระดับเพิ่มขึ้น และเซลล์ตับมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่พบผลดังกล่าวในหนู CARKO เพียงเล็กน้อย จากการทดลองที่ 2 พบว่าหลังการทดลอง 27 สัปดาห์ หนู WT มีระดับเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิล (eosinophil) และเซลล์มะเร็ง (adenomas) เพิ่มขึ้น ในขณะที่พบผลดังกล่าวในหนู CARKO เพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งตับของสารสกัดจากใบแป๊ะก๊วยมีความเกี่ยวข้องกับ การกระตุ้น constitutive androstane receptor

*constitutive androstane receptor (CAR) เป็น nuclear receptor ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ที่มีหน้าที่เผาผลาญสารอาหารและสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เอนไซม์ในตระกูล cytochrome P-450 (CYP) และมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในตับของหนู โดยเมื่อ CAR ถูกกระตุ้น จะทำให้การแสดงออกของยีนเปลี่ยนไป เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดเนื้องอกในตับได้

Food Chem Toxicol 2015;83:201-9