คำถาม : ชาหนุมานประสานกาย
  • ชาหนุมานประสานกายสามารถดื่มติดกันได้นานเท่าไหร่ เว้นกี่วันจึงจะดื่มต่อได้ และหนุมานประสานกายสามารถช่วยเรื่องโรควัณโรคได้ไหมคะ
  • Date : 30/4/2567 16:16:00
คำตอบ : ยังไม่พบรายงานการศึกษาฤทธิ์ของหนุมานประสานกายในการรักษาโรควัณโรค พบเพียงรายงานว่าสารซาโปนินในหนุมานประสานกายมีฤทธิ์ขยายหลอดลม ซึ่งอาจช่วยในการบรรเทาอาการหอบหืด อย่างไรก็ตามการศึกษายังมีค่อนข้างน้อย และยังไม่มีขนาดการใช้ที่ชัดเจน ส่วนการใช้ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อรักษาโรคหวัด แพ้อากาศ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ วิธีใช้มีหลายรูปแบบ ได้แก่
- ยาต้ม ใช้ใบสดหรือแห้งต้มเอาน้ำมาดื่มต่างน้ำตลอดวัน
- ยาชง เอาใบสดหรือแห้งชงกับน้ำเดือด ดื่มแทนชา
- ยาลูกกลอน ใช้ใบแห้ง บดเป็นผงผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
- นำใบสดมาเคี้ยวกลืนน้ำจนจืดแล้วคายกากทิ้ง วันละ 2 ครั้ง
สำหรับระยะเวลาการใช้ ไม่มีระบุชัดเจน แต่การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าเมื่อป้อนสารผสมซาโปนินต้นหนุมานประสานกาย ขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 14 วัน ส่งผลให้ระดับยูเรียและเอนไซม์ในตับของสัตว์ทดลองเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าสารซาโปนินอาจก่อให้เกิดพิษต่อตับและไต และยังมีการศึกษาพบว่าสารสกัดน้ำใบหนุมานประสานกายเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจและเป็นพิษต่อหัวใจ และมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด การใช้ในขนาดสูงอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้รับประทานติดต่อกันเกิน 14 วัน และควรมีระยะพักอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ และหมั่นตรวจเช็คค่าตับและไตอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหนุมานประสานกาย ดังนี้
1. ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับคนที่เป็นโรคหัวใจ คนที่มีไข้สูง และหญิงตั้งครรภ์
2. ห้ามกินยานี้ในขณะที่กำลังเหนื่อยหรือในขณะที่หัวใจเต้นเร็ว เช่น หลังการออกกำลังกาย เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
3. การใช้สมุนไพรหนุมานประสานกายอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้เกิดอาการแพ้จะมีอาการ ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น
4. ไม่ควรใช้หนุมานประสานกายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และใช้เกินขนาดเพราะอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและระดับน้ำตาลในเลือดได้

อ้างอิง :
1. Witthawaskul P, Panthong A, Kanjanapothi D, Taesothikul T, Lertprasertsuke N. Acute and subacute toxicities of the saponin mixture isolated from Schefflera leucantha Viguier. J Ethnopharmacol. 2003 Nov;89(1):115-21. doi: 10.1016/s0378-8741(03)00273-3.
2. Satayavivad J, Bunyapraphatsara N, Thiantanawat A, Kositchaiwat U. Hypoglycemic activity of the aqueous extract of Schefflera leucantha Viguier in rats. Thai J Phytopharm. 1996;3(1):1-5
3. ณัฐรดา บุรุษเลี่ยม. การแพทย์แผนไทยกับการสร้างเกราะป้องกันไวรัส. วารสารการแพทย์โรงพยาบาลชลบุรี. 2563;45(3):229-40.